เทคนิคการสอบสัมภาษณ์ เข้าเรียนมหาวิทยาลัย

เทคนิคการสอบสัมภาษณ์ เข้าเรียนมหาวิทยาลัย สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังจะสอบสัมภาษณ์ก็อาจจะเป็นกังวลและตื่นเต้นเป็นอย่างมาก วันนี้เราจึงเขียนเทคนิคการเตรียมตัว จนถึงการสัมภาษณ์ และข้อคำถามให้ได้รองศึกษากัน เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนจะลงสนาม

1. การเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์

สำหรับน้อง ๆ ที่สอบติดมหาวิทยาลัยนเรศวร พี่ ๆ ขอแสดงความยินดีด้วยจ้า แล้วถ้าน้อง ๆ เข้ามาอ่านบทความนี้ก็แสดงว่าน้อง ๆ นั้นกำลังตื่นเต้นที่จะเข้าสอบสัมภาษณ์ สำหรับการสอบสัมภาษณ์หลายคนได้กล่าวไว้ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ดังการเตรียมหาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลสาขาที่เราสอบติด และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย คณะที่เราจะเลือก สามารถเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัย (คลิก)

2. การแต่งกาย

อันนี้จดไว้เลยเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะพลาดไม่ได้โดยเด็ดขาด เราควรจะต้องแต่งตัวให้ถูกระเบียบทุกประการ ในชุดนักเรียนของโรงเรียนน้อง ๆ สะอาด ไม่ยับยู่ยี่ ไม่รัด ไม่สั้น ผมมัดหรือทำอย่างไรก็ได้ให้มันเรียบร้อยถูกระเบียบที่สุด และพวกเครื่องประดับอย่าเพิ่งใส่ไปก็ได้จ้า สร้อยแหวน ข้อมือ (นาฬิกาใส่ได้นะ) น้ำหอมก็ไส่แบบพอดี ๆ ถ้าน้องผู้หญิงจะแต่งหน้าก็เอาบาง ๆ แต่พอควรเพราะถ้าน้องหน้าใสมากเดียวอาจารย์ที่ป็นผู้หญิงเขาจะหมั่นไส้ (อันนี้แซวนะจ๊ะ) ไม่ต้องถึงกลับปัดบลัชออน กรีดอายไลเนอร์ ใส่บิ๊กอายเลยนะมันจะดูไม่น่ารัก

3. เตรียมอะไรไปบ้าง

คืนก่อนวันมาสัมภาษณ์ควรจัดเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยเสียก่อน ไม่แนะนำมาเตรียมตอนเช้าเพราะเดียวก็ลืมนั้นลืมนี่และอาจจะทำให้เรามาสายเผื่อเวลาไว้บ้างรถติด รถเสียเหตุฉุกเฉินเกิดได้เสมอ เอกสารใส่เเฟ้มแยกประเภทมาให้ดี ๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหา รูปถ่าย ใบรับรอง หลักฐานต่าง ๆ ปากกา  ปากกาลบคำผิด อย่าทำแบบในห้องเรียนยืมเพื่อนหน่อยนะ 🙁

4. คืนก่อนสัมภาษณ์

รีบนอน ไม่ต้องไปเที่ยวฉลองกลับเพื่อนมากมายเพราะเราเพิ่งจะเริ่มเข้า ยังไม่ได้จบนะจ๊ะ (ถ้าตื่นเต้นนอนไม่หลับอันนี้ก็ไม่รู้จะแนะนำอย่างไรทำอย่างไรก็ได้ให้นอนให้หลับ) อาหารที่กินควรระวังให้มากหลีกเลี่ยงรสจัด อาหารที่ไม่เคยกิน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะถ้าเรา ท้องเสีย ในตอนเช้าอันนี้พี่ก็ไม่รู้จะช่วยน้อง ๆ ได้อย่างไร เพราะเราต้องไปนั่งรอคิวการสัมภาษณ์ และสำหรับอาหารเข้าก็กินเบา ๆ จ๊ะอาหารย่อยง่าย ไม่ต้องจัดหนักจนเกินไป เดียวท้องเสียขึ้นมาอีกงานจะเข้ากันไปใหญ่

5. เดินทางไปที่สัมภาษณ์

ต้องตรวจสอบกำหนดการให้ดี ๆ นะว่าเขานัดเราที่ไหนตึกชื่ออะไร ชั้นอะไร หาข้อมูลให้ชัดเจน ให้เดินทางไปดูล่วงหน้าก่อนเวลาสัมภาษณ์ประมาณ 30 นาที เหลือดีกว่าขาดเพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น รถเสีย รถติด เหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เมื่อเราไปถึงที่สัมภาษณ์แล้วถ้าไม่มั่นใจสอบถามเจ้าหน้าที่ หรือรุ่นพี่ดูว่าใช่ตึกนี้ ชั้นนี้จริงหรือเปล่า ถ้าใช่ก็นั่งรอตั้งสติและมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ถ้าเรามีผู้ปกครองหรือผู้ติดตามมาด้วยก็แนะนำว่าให้รอที่รถ หรือม้านั่งตามคณะเพราะถ้าเข้ามาถึงจุดรายงานตัวเข้าสัมภาษณ์จะทำให้เราเกิดอาการกังวนได้

6. นั่งรอสัมภาษณ์

ควรนั่งรอด้วยความสุภาพ ไม่ควรคุยเสียงดัง เข้าใจว่าบางคนอาจจะเป็นคนอัธยาศัยดีเข้ากับคนง่าย และคุยเก่งก็ควรคุยกันเบา ๆ ทางที่ดีก็ลองแชร์ความรู้กัน อาจจะเป็นประโยชน์ในการสัมภาษณ์ และที่สำคัญคือเข้าใจว่าอาจจะรอนานแล้วมันเบื่อโทรศัพท์ Facebook, Instagram, Line  โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ควรเล่นแต่พอดี ไม่ต้องถึงกับเซวฟี ถ่ายรูปอัพกันเป็นภารกิจหลักไปเลย ที่สำคัญปิดเสียงด้วยนะ และสำหรับน้องผู้ชายที่สูบบุหรี่ ไม่ควรสูบเด็ดขาดเพราะอาจจะส่งกลิ่นในห้องสัมภาษณ์จนอาจารย์รู้สึกได้

7. เมื่อถูกเรียกตัวเข้าสัมภาษณ์

ทุกสิ่งต่อจากนี้จะกำลังจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าห้องสัมภาษณ์ ก่อนเข้าก็หายใจลึก ๆ ตรวจสอบเครื่องแต่งกายให้เรียบร้อย หัวเข็มขัด กระดุม ถุงเท้า รองเท้า และมั่นใจในตอนเองเราทำได้ เราทำได้ เราทำได้ เดินเข้าห้องอย่างมั่นใจ ถ้าห้องมีประตูควร เคาะประตู ก่อนเข้า ตามมารยาท ยกมือขึ้นมาประกบกันแล้วก้มหน้าพองาม แล้วพูดว่า “สวัสดี(ครับ ค่ะ)อาจารย์” เมื่อเข้าไปแล้วใช้สายตากวาดอย่างรวดเร็วดูว่ามีอะไรบ้างมองหาเก้าอี้ที่เราจะต้องนั่ง (ถ้าอาจารย์บอกนั่ง ๆ ก็ตอบกลับอย่างนอบน้อมขอบคุณครับอาจารย์ ต่อจากนั้นก็ตั้งสติ ฟังคำถามจากอาจารย์ให้ดี ไม่ควรนั่งหลังงอ หรือก้มหน้า และยิ้มเข้าไว้

8. ระหว่างการสัมภาษณ์

ทำหน้าให้มีความสุข (เอาแต่พอดี) ยิ้ม สดใส สบสายตาอาจารย์ แต่ไม่ต้องถึงกับมองไม่กระพริบมันก็เกินไป ไม่ต้องมองหาอะไรในห้องอาจารย์เราไม่ใช่นักสำรวจ ทำเหมือนเราคุยกับคนปกติ มองหน้าสบตา ถ้าอาจารย์มีหลายคนก็ควรแจกจ่ายสายตาให้ทั่วถึง นั่งสบาย ๆ (อย่าสบายจนเกินไป) ไม่ต้องเกร็ง วางแขนไว้ที่ตัก หรือประสานมือไว้ที่ตัก อย่าสั่นขา การตอบคำถามควรลงท้ายด้วย “ครับ”, “ค่ะ” เสมอ ไม่ตอบเฉพาะคำถามห้วน ๆ (และถ้าไม่แน่ใจก็อย่าแถสีข้างเลย) ไม่ควรพูดแทรกตอนที่อาจารย์กำลังพูด ถ้ามีแฟ้มสะสมผลงานควรเอามาแล้วว่างไว้บนโต๊ะอาจารย์เขาอาจจะขอดูก็ได้ ไม่ต้องอายที่จะให้อาจารย์ดูบางที่คำถามอาจจะมาจากแฟ้มสะสมผลงานของเราก็ได้เราก็สบายเลยที่จะตอบ

9. การตอบคำถาม

ตอบคำถามด้วยความมั่นใจ ฉะฉาน พูดให้เป็นธรรมชาติด้วยเสียงที่พอเหมาะไม่อย่าค่อยจนเกินไป หรือดังจนเกินไป พูดเท่าที่จำเป็นอย่าคุยโม้เกิน ไม่ต้องถ่อมตัวมากก็ได้เอาแต่พองาม ห้ามพาดพิง หรือพูดถึงบุคคลที่สาม จงพูดในสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำถามอย่างที่บอก (อย่าแถสีข้างเลย) และพูดความจริงอาจารย์เขารู้โดยเฉพาะเรื่องการเรียนเราเขามีข้อมูลเราหมดนะจ๊ะ และก็ไม่ต้องไปเถียงเอาชนะอาจารย์เด็ดขาดบางที่เขาอาจจะกำลังทดสอบเราก็รับฟังหรือถ้าอาจารย์ถามว่าคิดอย่างไรตอบได้ก็ตอบแบบพอดี ๆ ถ้าไม่ทราบก็บอกไปตรง ๆ และบอกว่า “เดียวผมจะลองไปหาข้อมูลดู(ครับ ค่ะ)” ขอบคุณอาจารย์ที่แนะนำ(ครับ ค่ะ)”

10. คำถามยอดฮิต

1. เล่าประวัติแบบย่อ ๆ ของคุณให้ฟังหน่อยครับ / แนะนำตัวให้กรรมการฟังหน่อยครับ

ตอบ แบบย่อ ๆ ตามที่อาจารย์ถาม แนะนำตัวเองผม หนู ก็ได้ดูน่ารักดี ชื่อ-นาสกุลจริง มาจากโรงเรียน จังหวัด อำเภอ ให้รู้ว่าเป็นคนที่ไหนก็พอแล้ว

2. ทำไมถึงเลือกเรียนที่นี่ สาขานี้ ในการตอบนั้น แต่ละคนอาจจะมีลักษณะคำตอบที่แตกต่างกัน แนวทางของคำตอบนั้น พยายามตอบเป็นกลาง ๆ คือไม่ได้ฟังดูดีมาก หรือห้วนจนเกินไป เพื่อความเป็นธรรมชาติ และไม่ดูเป็นสคริปต์มากนัก

3. เรียนสายอะไรมา

4. วิชาที่ชอบและไม่ชอบ

5. อาชีพในฝัน

6. ถ้าไม่ได้เรียนที่นี่ในคณะนี้ จะเรียนที่ไหน (ก็เอาตามความจริง แต่ทำหน้าสงสารนิด ๆ)

7. ถ้าเรียนแล้วรู้ตัวว่าคณะนี้ไม่ใช่จะทำอย่างไร (ตอบยากมาก) ตัวใครตัวมันล่ะกันเอาควรจริงในใจล่ะกัน

8. ถ้าเรียนหนักจะไหวไหม ตอบไปเลยจะพยายามให้ดีที่สุดถ้าได้โอกาสเข้าเรียน อย่าโม้ สบายอยู่แล้วครับอาจารย์ 555+

9. ถ้าอาจารย์ถามถึงข้อเสียของเรา เพราะคนเราทุกคนมีข้อเสียของตนเองอยู่แล้ว ถ้านึกข้อเสียของเราไม่ออกอาจจะมีปัญหาละ หรือเคยทำอะไรให้พ่อแม่เสียใจบ้าง เคยสร้างวีระกรรมอะไรไว้บ้างก็ ตอบตามความจริง เพราะอาจารย์บางคนจะไล่ถามถ้าเราแต่งเองก็จะจนมุมในที่สุด

10.ใช้โทรศัพท์รุ่นอะไร

11.กินข้าวมายั้ง กินข้าวกับอะไร ทุกอย่างเป็นคำถามไม่หมด

12. บ้านอยู่ที่ไหน

11.เจออาจารย์เริ่มทดสอบด้วยคำถามกวน ๆ

อาจารย์หลายท่านอาจจะกำลังใช้จิตวิทยาทดสอบเราถึงความรู้สึกและการเก็บอารมณ์ต่อแรงเสียดสี กดดันต่าง ๆ โดยอาจจะแสดงออกทางเสียง หน้าตา (กวน…ยิ่งนัก) ควรตั้งสติแล้วใจเย็น ๆ บางคนคะแนนข้อสอบเทพมากแต่เจออาจารย์แซวนิดแซวหน่อย ฟิวส์ขาด อย่างเช่น เธอคะแนนน้อยมาก ไม่รู้ฝ่ายพิจารณ์จะเรียก เธอมาสัมภาษณ์ทำไมนิ คะแนนน้อยแบบนี้เรียนไปก็ซิ่ว เราก็ต้องตอบอย่างใจเย็นว่า ถึงตอนนี้คะแนนน้อย แต่หนูคิดว่าหนูจะพัฒนาได้ดีกว่านี้ หนูจะตั้งใจให้มากขึ้น ขอแค่ได้มีโอกาสสักครั้ง นะคะ

12. เจอคำถามที่ตอบไม่ได้

อย่าเงียบ (แต่อึ้งได้ 3 วิ) และอย่าอ้างว่าไม่ได้เรียนมา (คิดถึงพ่อแก้ว แม่แก้ว หน้าอาจารย์ที่โรงเรียนอธิฐานความรู้จงมา จงมา) เขาอาจจะอยากลองดูไหวพริบการแก้ปัญหาของคุณ อันนี้อย่าตอบมั่วเด็ดขาด (อย่าแถสีข้างเลย) ยอมรับอย่างเต็มอกว่าไม่ทราบจริง ๆ และ(ผม หนู) จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมนะ(ครับ ค่ะ) ซึ่งแสดงว่าคุณเป็นผู้ใฝ่รู้ (จริง ๆ เสียงสูง) อย่าขอเปลี่ยนคำถาม เพราะคุณไม่มีตัวช่วยนั้น หรือขอผู้ช่วยเพราะไม่ใช่เกมโชว์ (ความจริงใจมันก็ทำให้การสัมภาษณ์นั้นดำเนินไปได้ด้วยดี)

สุดท้ายเมื่อจบการสัมภาษณ์ ไม่ว่าเราจะตอบได้ดีหรือไม่ดีก็ตามก็ยิ้มหวาน ๆ ยกมือไหว้ สวัสดีอาจารย์ และขอบคุณอาจารย์สำหรับคำแนะนำ แล้วก็ออกจากห้องอย่าลืมเก็บเก้าอี้ให้เรียบร้อย

13. บางครั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจเราได้

สำหรับ ม.นเรศวร ถ้าน้อง ๆ มาอยู่ที่มหาลัยแล้วคืนก่อนวันสัมภาษณ์ อย่าลืมไปขอพรจากสิ่งยึดเหนียว ที่สำคัญที่สุดในมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ องค์สมเด็จพระนเรศวร เพื่ออธิฐานและขอพรฝากตัวเป็นลูกหลานของพระองค์รับลองว่าเป็นสิ่งยึดเหนียวที่จะทำให้เราฮึกเหิมเยี่ยงนักรบเลยที่เดียว ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะจ๊ะ ถ้าคนที่จะมาตอนเช้าก็อย่าลืมจอดรถแวะซักนิดแล้วลงไปขอพรจากท่าน แล้วมาอย่างมั่นใจ (อันนี้ไม่รวมข้อสัญญาอื่น ๆ ที่ท่านจะบอกท่านนะ อิอิ)

สุดท้ายนี้ก็ขอให้น้อง ๆ โชดดีและสอบสัมภาษณ์ผ่านกันทุก ๆ คนจ๊ะ

 

อ้างอิง : www.rakjung.com